ปราสาทหินพิมาย ต้นแบบนครวัด
ปราสาทหินพิมาย หรือ เมืองพิมายเป็นเมืองที่สร้างตามแบบแผนของศิลปะขอม จากหลักฐานศิลาจารึกและศิลปะสร้างบ่งบอกว่า ปราสาทหินพิมายคงเริ่มสร้างขึ้นสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 16 เชื่อว่าเป็นต้นแบบของ “ปราสาทนครวัด” ศาสนสถานอันยิ่งใหญ่ในที่ราบเขมรต่ำ บริเวณโตนเลสาบ กระทั่งพุทธศตวรรษที่ 18 ปราสาทหินพิมายจึงมีการสร้างกำแพง และประตูเมืองคล้าย “เมืองนครธม” ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
บริเวณเมืองพิมายตามลำน้ำสาขาของลำน้ำมูล ไปถึงเขตเขาพนมรุ้งพบชุมชนโบราณที่มีคูน้ำล้อมรอบหลายแห่ง บางแห่งมีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมพิมายดำ ก่อนเติบโตเป็นบ้านเมืองในสมัยทวารวดี ชุมชนโบราณข้างต้น เป็นแหล่งพบศาสนสถาน พระพุทธรูป และเทวรูปสมัยทวารวดี มีทั้งหิน และสำริด แต่แทบทั้งหมดเป็นคติพุทธมหายานลักษณะเหล่านี้ยังชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของบ้านเมืองจากเขตพิมายไปถึงเขตพนมรุ้ง อันเป็นเส้นทางโบราณที่จะตัดผ่านช่องเขาในเทือกเขาพนมดงรัก ลงสู่เมืองพระนครในที่ราบเขมรต่ำ
ลักษณะพิเศษของปราสาทหินพิมาย คือ ปราสาทหินแห่งนี้สร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทหินอื่น ๆ ที่มักหันไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางตัดมาจากเมือง พระนคร เมืองหลวงในสมัยนั้นของอาณาจักรขอม ซึ่งเข้ามาสู่เมืองพิมายทางทิศใต้ เมื่ออิทธิพลของวัฒนธรรมขอมเริ่มเสื่อมลงหลังรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยในเวลาต่อมา เมืองพิมายคงจะหมดความสำคัญลง และหายไปในที่สุด เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองพิมายเลยในสมัยสุโขทัย