พุทธกษัตริย์ พระเจ้าอโศกมหาราช
พระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์เป็นพระราชาองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์โมริยะ ครองราชสมบัติ ณ นครปาฏลีบุตร ในห้วงปี พ.ศ. 218-260 ทรงเป็นพระราชาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของชมพูทวีป และทรงเป็นผู้อุปถัมสําคัญของพุทธศาสนา พระองค์เป็นผู้มีบทบาทอย่างมากต่อการเผยแผ่ศาสนาพุทธไปทั่วเอเชียโบราณ
ศากยวงศ์ ถูกทําลายด้วยความแค้นของพระราชาวิฑูฑะภะแห่งแคว้นโกศล พระญาติที่หลุดรอดมาได้ ผู้หนึ่งที่เฉลียวฉลาดนามว่าจันทรคุปต์ ได้รวบรวมผู้คนเข้าด้วยกับกองทัพอเล็กซานเดอร์มหาราช แต่ต่อมาเกิดผิดใจกันและจันทรคุปต์ถูกจับ แต่ก็หนีมาตั้งกองทัพใหม่เป็นอิสระได้ พอดีกับอเล็กซานเดอร์ต้องยกทัพกลับกรีก จึงเป็นโอกาสดีของจันทรคุปต์ ได้รวบรวมผู้คนมากพอและสถาปนาราชวงศ์โมริยะขึ้น
พระราชาจันทรคุปต์องค์นี้ คือต้นราชวงศ์โมริยะ และเป็นสมเด็จปู่ของอโศกมหาราช เมื่อพระราชาจันทรคุปต์สวรรคต พระราชาพินทุสาร พระโอรสได้ครองราชย์ต่อมาและทรงขยายราชอาณาจักร พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นโอรสที่พระบิดาโปรดปราน ได้เป็นอุปราชและได้ครองเมืองอุชเชนี แห่งแคว้นอวันตี
เมื่อพระบิดาสวรรคต พระเจ้าอโศกมหาราชทรงได้ราชสมบัติเมื่อปีพ.ศ. 270 ทรงพระนามว่า พระราชาอโศกปิยทัสสี หลังจากครองราชสมบัติก็ทรงขยายพระราชอาณาจักร โจมตีแคว้นต่างๆ ให้มายอมอยู่ในพระอํานาจ แคว้นสําคัญคือกะลิงคะซึ่งอยู่ตอนใต้แคว้นมคธ สงครามที่นี่สู้รบกันดุเดือดที่สุดและโหดร้ายที่สุด แม้อโศกมหาราชจะเป็นผู้ชนะ แต่ก็สูญเสียไพร่พลมหาศาล สําหรับกะลิงคะแล้ว ไพร่พลล้มตาย สูญหายและถูกจับเป็นเชลยจำนวนมาก
เหตุแห่งสงครามครั้งนี้ ทําให้อโศกมหาราชทรงเศร้าพระทัยเป็นอย่างยิ่ง และหันมานับถือพระพุทธศาสนาโดยทันที ทรงเจริญศีล ละเว้นปาณาติบาตอย่างเคร่งครัด กับอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง โดยจัดสร้างวัดหรือวิหารถึง 84,000 แห่ง ซึ่งปรากฏอยู่ทุกแคว้นทุกเมืองในชมพูทวีป ประหนึ่งว่าจะลบพระนามอโศกผู้โหดเหี้ยม ให้เลือนหายไปด้วย เมื่อกลับพระทัยมานับถือพุทธศาสนา จึงได้พระนามใหม่ว่า ธรรมาโศกหรืออโศกผู้ทรงธรรม
พระเจ้าอโศกได้เผยแผ่มุมมองใหม่ที่พระองค์มีต่อชีวิต ผ่านราชกฤษฎีกาที่สลักลงบนก้อนหินและเสาหินตามแหล่งแสวงบุญ และตามเส้นทางการค้าที่คึกคัก ราชกฤษฎีกาเหล่านี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างยุคแรกๆ ของระบบการเขียนในประวัติศาสตร์อินเดีย โดยภาษาที่ใช้จารึกมิใช่สันสกฤต อันเป็นภาษาประจำชาติของอินเดีย แต่กลับเป็นภาษาท้องถิ่น เพื่อให้ผู้คนเข้าใจสารเหล่านั้นได้โดยง่าย