September 8, 2024

รัชกาลที่ 4 โปรดให้รื้อปราสาทขอม

0

พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 ฉบับของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มีเรื่องราวที่ น่าสนใจอย่างยิ่ง เกี่ยวกับการรื้อปราสาทขอม “นครวัด” ในกัมพูชา เพื่อนำเข้ามาไว้ในสยาม รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริให้  “พระสุพรรณพิศาล ขุนชาติวิชา ออกไปเที่ยวดูที่เมืองหลวงพระนครธมพระนครวัด หลังกลับมากราบทูลว่า มีแต่ปราสาทใหญ่ๆ ทั้งนั้น จะรื้อเอาเข้ามาเห็นจะไม่ได้” จึงมีรับสั่งให้ไปรื้อ ปราสาทตาพรหม ซึ่งมีขนาดย่อมกว่า

พระราชพงศาวดารฯ กล่าวต่อไปว่ามีการส่งคนออกไป “4 ผลัด ผลัดละ 500 คน ให้แบ่งเป็นกองชักลากบ้าง กองส่งบ้าง…ตั้งพลีกรรมบวงสรวง ได้ลงมือรื้อปราสาทเมื่อ ณ วันเดือน 6 ขึ้น 9 ค่ำ” เหตุการณ์รื้อปราสาทด้วยจำนวนไพร่พลถึง 2 พันคนนี้ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2403 (ค.ศ.1860) ตรงกับรัชสมัยของกษัตริย์กัมพูชา คือ พระเจ้านโรดม ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2402-47 

สมัยนั้นกัมพูชาตกต่ำอ่อนแอจนกลายเป็นประเทศราชของทั้งสยามและเวียดนาม ก่อนที่จะหนีไปยอมรับการเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ. 2410 ในสมัยดังกล่าวเมืองเสียมราฐ และเมืองพระตะบอง ยังขึ้นโดยตรงกับกรุงเทพฯ โดยมีขุนนางท้องถิ่นตระกูลอภัยวงศ์ปกครองอยู่ และพระสุพรรณพิศาล ขุนนางเมืองนี้นั่นแหละ ที่ถูกรับสั่งให้ไปเป็นหัวหน้าควบคุมการรื้อปราสาทตาพรหม 

เราไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไมรัชกาลที่ 4 ถึงโปรดจะให้รื้อปราสาทหินมหึมาจากกัมพูชาในช่วงนั้นขณะที่ฝรั่งเศสกำลังต้องการครอบครองดินแดนอินโดจีน ปรากฏว่าการรื้อถอนปราสาทหินครั้งนั้นล้มเหลว และพระราชพงศาวดารฯ กล่าวไว้อย่างน่าตกใจว่า มีเขมรประมาณ 300 คนออกมาแต่ป่า เข้ายิงฟันพวกรื้อปราสาท ได้สังหารพระสุพรรณพิศาลและสังหารพระวัง บุตรพระสุพรรณพิศาลจนเสียชีวิตทั้งคู่ ไล่แทงฟันพระมหาดไทย พระยกกระบัตรบาดเจ็บหลายคน แต่ไพร่นั้นไม่ทำอันตราย แล้วหนีเข้าป่าไป

เป็นเหตุทำให้ รัชกาลที่ 4 ต้องทรงระงับโครงการรื้อปราสาทหินดังกล่าว เปลี่ยนเป็นให้จำลองปราสาทนครวัดเล็กๆ ดังที่ พระราชพงศาวดารฯ ได้กล่าวไว้ว่า “ให้ช่างกระทำจำลองตามที่ถ่ายเข้ามานั้น ขึ้นไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามจนทุกวันนี้” ซึ่งก็คือที่ วัดพระแก้ว ในพระบรมมหาราชวังนั่นเอง

About The Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *