พระเจ้าตาก กลศึกทุบหม้อข้าว
พระเจ้าตากนำกองกำลังชาวสยามและชาวจีน ฝ่าวงล้อมพม่าจากกรุงศรีอยุธยาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2310 ประมาณสามเดือนก่อนเสียกรุงฯ ไปตั้งหลักที่หัวเมืองชายทะเลตะวันออก ในขณะเดียวกันนั้นเกิดสงครามจีน-พม่า อันมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างพม่าและจีนราชวงศ์ชิงเกี่ยวกับอิทธิพลในหัวเมืองไทใหญ่ ส่งทัพจีนเข้าโจมตีพม่าโดยตรงในปลายปี พ.ศ. 2309 เป็นเหตุให้พระเจ้ามังระมีราชโองการมายังแม่ทัพที่อยุธยาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2310เร่งรัดให้มังมหานรธาและเนเมียวสีหบดีหักตีกรุงศรีอยุธยาให้ได้โดยเร็ว
เพื่อผันกำลังไปสู้รบกับจีน มังมหานรธาจึงให้สร้างป้อมล้อมกรุงจำนวน 27 ป้อมในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม พ.ศ. 2310 พระเจ้าเอกทัศน์ทรงส่งกองกำลังจีนอาสาคลองสวนพลู และกองกำลังชาวคริสเตียนโปรตุเกส ออกไปสู้รบกับพม่าเป็นการป้องกันด่านสุดท้าย ซึ่งพ่ายแพ้ให้แก่พม่าอีกเช่นกัน มังมหานรธาถึงแก่กรรมในเดือนมีนาคม เป็นเหตุให้เนเมียวสีหดีขึ้นเป็นผู้บัญชาการทัพพม่าโดยสิทธิ์ขาดแต่ผู้เดียว เนเมียวสีหบดีคิดค้นแผนการขุดอุโมงค์ลอดกำแพงกรุงศรีอยุธยา
ฝ่ายพม่าเริ่มตั้งป้อมขุดอุโมงค์ที่หัวรอในเดือนมีนาคม จนกระทั่งในต้นเดือนเมษายน ฝ่ายพม่าจุดไฟเผารากกำแพงกรุงศรีอยุธยาที่บริเวณหัวรอ ทำให้กำแพงเมืองที่หัวรอทรุดพังทลายลง เป็นโอกาสให้ทัพพม่าสามารถเข้ายึดพิชิตกรุงศรีอยุธยาได้ในที่สุด วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ทัพฝ่ายพม่าสังหารชาวกรุงฯ เผาทำลายปราสาทพระราชวัง วัดวาอารามและบ้านเรือนของราษฎร ปล้นทรัพย์สินกลับไป
พระเจ้าเอกทัศน์สวรรคตโดยการต้องปืน สาเหตุการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าเอกทัศมีสันนิษฐานไว้หลายข้อ ในหลักฐานของไทยส่วนใหญ่บันทึกไว้ว่าพระองค์เสด็จสวรรคตจากการอดพระกระยาหารเป็นเวลานานกว่า 10 วัน หลังจากที่เสด็จหนีไปซ่อนตัวที่ป่าบ้านจิก ฝ่ายพม่ากวาดต้อนชาวกรุงศรีอยุธยาจำนวน 30,000 คน พร้อมทั้งเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ศิลปินช่างฝีมือ และสมบัติทางวัฒนธรรมต่างๆ กลับไปพม่า
เนเมียวสีหบดียึดครองกรุงศรีอยุธยาอยู่เป็นเวลาสองเดือน ก่อนที่จะถอยทัพกลับพม่าในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2310 โดยวางกองกำลังที่มีจำนวนไม่มากไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น นำโดยสุกี้พระนายกอง หลังกรุงศรีอยุธยาแตก 2 เดือน “พระเจ้าตาก” ทรงเดินทางไปรวบรวมไพร่พลและเสบียงยังเมืองต่างๆ เพื่อกู้บ้านเมือง ด่านแรกที่ พระเจ้าตาก ต้องทำศึกสำคัญในภารกิจ “กู้กรุงศรี” คือจัดการกับผู้ต่อต้านในเขตเมืองระยอง ซึ่งมี หลวงพลแสนหาญ ขุนราม หมื่นซ่อง ขุนจ่าเมือง นายทองอยู่นกเล็ก กับกำลังพลประมาณ 1,500 คน มีการปะทะกันอย่างดุเดือด แต่ในที่สุดก็แตกพ่ายไป
ด่านสำคัญลำดับต่อไปคือเมืองจันทบูรพระเจ้าตาก ไม่ต้องการให้เกิดการรบ สร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎร จึงส่งทูตไปเจรจาความกับเจ้าเมืองจันทบูร โดยให้ นายบุญมีมหาดเล็ก นายบุญรอดและนายบุญมา น้องภรรยาเจ้าเมืองจันทบูร เป็นทูตเจรจา เบื้องต้นก็ได้ความตกลงอย่างสันติ พระยาจันทบูรสัญญาว่า 10 วันจะออกไปรับเสด็จ แต่แล้วเมื่อเวลาล่วงเลยไป ก็มิได้ทำตามสัจจะสัญญา เพียงให้คนนำข้าวเปลือก 4 เกวียนมาถวาย
ฝ่ายพวกขุนราม หมื่นซ่อง ที่แตกหนีมาจากเมืองระยองนั้น ก็ไปตั้งหลักในเขตเมืองจันทบูร ให้ไพร่พลปล้นวัว ควาย ช้าง ม้า ของหลวง พระเจ้าตากทรงทราบความจึงนำกองทัพไปปราบปราม ขุนราม หมื่นซ่อง หนีไปได้อีก คราวนี้หนีไปอยู่กับพระยาจันทบูร ยังมีนายทองอยู่นกเล็กอีกคนหนึ่งที่หนีจากเมืองระยอง ตั้งท่าคอยสกัดตีกองทัพพระเจ้าตากอยู่ใกล้เขตเมืองชลบุรี เมื่อพระเจ้าตากทรงทราบจึงให้คนไปเจรจา นายทองอยู่นกเล็กก็ยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี จึงแต่งตั้งให้เป็น พระยาอนุราฐบุรีศรีมหาสมุทร อยู่ครองเมืองชลบุรีสืบไป
ทางด้านขุนราม หมื่นซ่อง เมื่อหนีไปอยู่กับพระยาจันทบูร ก็ยุยงให้รบกับพระเจ้าตาก ออกอุบายให้พระสงฆ์ไปเชิญพระเจ้าตากเข้าเมือง แล้วจะได้จับตัวไว้ ครั้งถูกพระยาจันทบูรวางอุบายจะจับตัว พระเจ้าตากทรงรู้ทันไม่กระทำตาม แต่สั่งให้ทหารยกทัพเข้าประชิดเมือง เมื่อเข้ามาใกล้เมืองจันทบูร พระยาจันทบูรก็ให้ข้าราชการผู้ใหญ่ออกไปนำทางกองทัพพระเจ้าตาก แต่ก็ได้ซ่อนกลไว้คือ นำทางเข้ามาด้านทิศใต้ของเมือง ซึ่งต้องข้ามแม่น้ำ จังหวะนี้เองที่กองทัพฝ่ายเมืองจันทบูรจะอาศัยข้อได้เปรียบโจมตีกองทัพพระเจ้าตากได้สะดวก
แต่พระเจ้าตากก็รู้ทันกลศึกนี้อีก จึงสั่งให้เคลื่อนทัพไปหยุดอยู่ ณ วัดแก้ว ริมเมืองจันทบูรนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้พระยาจันทบูรจึงได้แต่เล่นบทตี 2 หน้า ให้ข้าราชการออกไปเชิญพระเจ้าตากเข้าเมือง แต่พระเจ้าตากคงจะรู้ทันทั้งสิ้นแล้ว จึงว่าพระยาจันทบูรเป็นผู้น้อย สมควรจะออกมาคารวะผู้ใหญ่จึงจะถูก พระเจ้าตาก ยังให้โอกาสสุดท้ายกับพระยาจันทบูร คือให้ส่งตัวขุนราม หมื่นซ่อง ออกมา จะได้ไม่ต้องรบกัน แต่ก็ถูกพระยาจันทบูรปฏิเสธอีก พระเจ้าตากเห็นว่าพระยาจันทบูรไม่ได้ตั้งอยู่ในสัตย์ และยังคิดจะรบโดยอาศัย ขุนราม หมื่นซ่อง เป็นกำลังสำคัญ
จะเห็นได้ว่าพระเจ้าตากไม่ได้ใช้กำลังเข้าโจมตีให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปทีเดียว แต่พยายามเจรจารอมชอมกับพระยาจันทบูรอยู่หลายครั้ง ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะกองทัพของพระเจ้าตากอาจจะเป็นรองทั้งทางด้านกำลังพล และยุทโธปกรณ์ และในเวลาที่จะตีเมืองจันทบูรนี้ กรุงศรีอยุธยาแตกไปแล้วถึง 2 เดือน พระยาจันทบูรจึงมีสิทธิที่จะ “เลือกข้าง” ว่าจะอยู่ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาที่ย่อยยับไปแล้ว หรือจะอยู่กับฝ่ายพม่าก็ได้ หรือแม้แต่ตั้งตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อใครก็ยังทำได้ แต่เหตุที่ไม่กล้ายกทัพออกไปตีกองทัพพระเจ้าตาก ก็อาจเป็นเพราะไม่แน่ใจในฝีมือนัก อีกทั้งกิตติศัพท์ของพระเจ้าตากก็กำลังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” จึงเป็นที่น่ายำเกรงยิ่งนัก
เมื่อเจรจาไม่ได้ ก็รบกัน วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ.2310 ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ยกทัพ บุกตีเมืองจันทบูรและการตีเมืองจันทบูรครั้งนั้น เป็นวีรกรรมที่เลื่องลือมาจนถึงปัจจุบัน เพราะยุทธวิธีที่ใช้เรียกความฮึกเหิมกับไพร่พลคือการ “ทุบหม้อข้าว” ก่อนเข้าตีเมือง หมายจะได้กินข้าวเช้าในเมืองจันทบูร หากตีเอาเมืองไม่ได้ ก็ให้ตายด้วยกันเสียให้หมด ถือว่าเป็นกลศึกที่ปลุกขวัญกำลังใจแก่ทหารกล้าเป็นอย่างมาก
พระเจ้าตาก สั่งให้ทหารกินข้าวกินปลาแล้ว “ต่อยหม้อข้าวหม้อแกงให้จงสิ้น ในเพลากลางคืนวันนี้ ตีเอาเมืองจันทบูรให้ได้ ไปหาข้าวเช้ากินในเมือง ถ้ามิได้ก็ให้ตายเสียด้วยกันเถิด” ในวันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2310 ครั้นถึงเวลา 19.00 น. เจ้าตากจึงได้สั่งให้ทหารสยามและจีนลอบเข้าไปอยู่ตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้แล้ว ให้คอยฟังสัญญาณเข้าตีเมืองพร้อมกัน จึงให้โห่ขึ้นให้พวกอื่นรู้ เมื่อเวลา 03.00 น. เจ้าตากก็ขึ้นคอช้างพังคีรีกุญชร ให้ยิงปืนสัญญาณพร้อมกับบอกพวกทหารเข้าตีเมืองพร้อมกัน
ส่วนพระเจ้าตากก็ไสช้างเข้าพังประตูเมืองจนทำให้บานประตูเมืองพังลง ทหารเจ้าตากจึงกรูกันเข้าเมืองได้ พวกชาวเมืองต่างพากันละทิ้งหน้าที่หนีไป ส่วนพระยาจันทบุรีก็พาครอบครัวลงเรือหนีไปยังเมืองบันทายมาศ เจ้าตากตีเมืองจันทบุรีได้ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 03.00 น. หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน เสร็จศึก ยึดทรัพย์สิน อาวุธ เสบียงอาหาร ได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังจัดทัพลงไปทางเมืองตราด จัดการกับสำเภาจีน ที่ยังไม่ยอมอ่อนน้อม “เก็บได้ทรัพย์สิ่งของทองเงินและผ้าแพรเป็นอันมาก” ก่อนจะย้อนกลับมาตั้งหลักอยู่ที่เมืองจันทบูร