July 27, 2024

พระเจ้าจักกายแมง ผู้ประกาศสงครามกับอังกฤษ

0

พระเจ้าจักกายแมง เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์โก้นบอง มีนโยบายขยายอำนาจเข้าไปในแคว้นอัสสัมและมณีปุระ ทำให้มีปัญหากับอังกฤษ และนำไปสู่การเกิดสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง เมื่อพระเจ้าปดุงเสด็จสวรรคตเมื่อ ค.ศ.1819 พระเจ้าจักกายแมงจึงขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อ พระองค์มีอัธยาศัยอ่อนโยนและมีความอ่อนแอด้วย ทำให้พระมเหสีคือพระนางแมนุ สามารถกุมอำนาจอยู่เบื้องหลังราชบัลลังก์

พระองค์มีนโยบายแผ่อำนาจเข้าไปในแคว้นอัสสัมและมณีปุระ โดยยกทัพเข้าไปในมณีปุระเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.1819 เพราะไม่มาเข้าเฝ้าพระองค์ในงานพระบรมราชาภิเษก เจ้าผู้ครองแคว้นมณีปุระจึงหนีเข้าไปในแคว้นกระแซและขับไล่เจ้าผู้ครองแคว้นออกไป เจ้าผู้ครองแคว้นกระแซจึงหนีเข้าไปในแคว้นชยันตียา และขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ อังกฤษจึงผนวกแคว้นกระแซและชยันตียาใน ค.ศ.1820

พระเจ้าจักกายแมงทรงให้มหาพันธุละนำกองทัพไปโจมตีอัสสัมใน ค.ศ.1821 เพราะพระเจ้าจันทรกานต์ สิงห์ หันไปขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ พม่าจึงยกเข้าไปยึดอัสสัมได้สำเร็จใน ค.ศ.1822 เมื่อพม่าได้ครอบครองแคว้นอัสสัม จึงต้องเผชิญหน้ากับจักรวรรดิบริเตนที่กำลังอยู่ในระหว่างล่าอาณานิคมอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งในช่วงเวลานั้นอังกฤษก็กำลังคุกคามอินเดียอยู่

ในช่วงแรกกองทัพอังกฤษยังไม่สามารถต่อกรกับพม่าได้เนื่องจากไม่คุ้นกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศทว่าผลของการสู้รบมาถึงจุดพลิกผันที่ให้ถึงที่สิ้นสุดเอาเมื่อถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1824 ซึ่งเป็นสมรภูมิในย่างกุ้ง มหาพันธุละ แม่ทัพใหญ่ของฝ่ายพม่า ซึ่งนำกองกำลังประมาณ 60,000 นาย จากกรุงอังวะ ปะทะกับกองทัพอังกฤษ ซึ่งประกอบด้วย ทหารสัญชาติอังกฤษและพวกทหารแขกซีปอย

ในเวลาเพียง 15 วัน กองทัพพม่าสูญเสียเป็นอย่างมาก จนมหาพันธุละเหลือกำลังทหารเพียงน้อยนิด ต้องถอยร่นไปตั้งรับที่เมืองดนูพยู จนลำน้ำปันฮะลายซึ่งเป็นลำน้ำสำคัญที่ตัดออกสู่แม่น้ำอิระวดี ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่ มหาพันธุละใช้ยุทธวิธีการรบแบบสมัยโบราณ ที่เคยกระทำใช้ได้ผลสำเร็จมาแล้วในการรบแต่ละครั้งในประวัติศาสตร์ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ คือ การตั้งค่ายและป้อมปืนขึ้นริมน้ำทั้งสองฟากเพื่อดักยิงเรือของข้าศึกที่ผ่านมา

แต่ด้วยเทคโนโลยีทางอาวุธที่ทันสมัยกว่าและระเบียบวิธีการรบของกองทัพอังกฤษ มหาพันธุละเป็นฝ่ายแพ้อย่างยับเยิน และหลังจากนั้นในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1825 มหาพันธุละก็เสียชีวิตลงด้วยสะเก็ดปืนใหญ่ระเบิดที่เมืองดนูพยูนั่นเอง เมื่อถูกฝ่ายอังกฤษใช้ปืนใหญ่ที่ทันสมัยกว่ารวมทั้งปืนครก ขึ้นตั้งเป็นหอรบระดมยิงกระหน่ำค่ายของพม่า

สงครามสิ้นสุดลงที่การทำสนธิสัญญารานตะโบ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1826 อังกฤษผนวกเอาอะระกันและตะนาวศรี ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญด้านทะเลอันดามันไปเป็นสิทธิ์ขาดอย่างที่จะเรียกเอาคืนไม่ได้ พร้อมทั้งพม่าต้องสัญญาว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของดินแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ คือ แคว้นอัสสัม, กะจาร์, ซินเตีย และมณีปุระนอกจากนี้แล้ว พม่ายังต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามให้อังกฤษ และต้องยอมให้อังกฤษตั้งสถานกงสุลขึ้นในกรุงรัตนปุระอังวะ ซึ่งมี จอห์น ครอว์เฟิร์ด เป็นกงสุลคนแรก

About The Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *