ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งเยอรมัน
จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี เป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งเยอรมนี และเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งปรัสเซีย จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 1(ปู่) เสด็จสวรรคต จักรพรรดิเฟรเดอริคที่ 3 พระราชบิดาขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงพระประชวร เพียงไม่กี่เดือนหลังครองราชย์ก็สวรรคต และจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 ก็ขึ้นครองราชย์ สืบต่อจากพระราชบิดาในวันที่ 15 มิถุนายน ค.ศ.1888 หลังจากขึ้นครองราชย์ไม่เกินสองปี พระองค์ก็ทรงปลดนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษผู้สร้างจักรวรรดิอย่าง อ็อตโต ฟอน บิสมาร์ค
ภายหลังจากปลดบิสมาร์ค จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 ก็ทรงแต่งตั้งผู้นำทางการเมืองตามพระทัย โดยพระองค์ทรงเลือกข้าราชการชั้นสูงมาดำรงตำแหน่งสำคัญ ซึ่งบิสมาร์คก็ได้กล่าวว่าพระองค์จะต้องทรงนำพาเยอรมนีไปสู่หายนะ จากนั้นจักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 ก็ทรงทำเรื่องที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการที่พระองค์ทรงแทรกแซงนโยบายด้านการต่างประเทศ ทำให้ความสัมพันธ์ของเยอรมนีและประเทศต่างๆ ไม่ดีเท่าที่ควร และพระองค์ยังถูกกล่าวหาอย่างอื้อฉาวว่า พระองค์เป็นพวกรักร่วมเพศ ทั้งๆที่พระองค์มีพระมเหสีและพระราชบุตรอยู่แล้ว
การปกครองของพระองค์ได้สร้างความแปลกแยกจากชาติมหาอำนาจอื่น ๆ ของโลก โดยการริเริ่มสร้างกองทัพเรือขนาดใหญ่ ท้าทายการควบคุมโมร็อกโกของฝรั่งเศส และการสร้างสายรถไฟผ่านแบกแดด ซึ่งเป็นการคุกคามต่อการปกครองของอังกฤษในอ่าวเปอร์เซีย ดังนั้น ในสองทศวรรษของศตวรรษที่ 20 เยอรมนีสามารถพึ่งพาประเทศที่อ่อนแอกว่าอย่างออสเตรีย-ฮังการี และจักรวรรดิออตโตมันที่กำลังเสื่อมถอยในฐานะพันธมิตร
หลายคนมองว่านโยบายการต่างประเทศของพระองค์ เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิเยอรมัน อย่างในปี 1914 เยอรมนีให้การรับประการว่าจะสนับสนุนทางทหารต่อจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีในช่วงวิกฤตการณ์เดือนกรกฎาคม การลอบปลงพระชนม์ อาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์ซึ่งผลักให้ยุโรปเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อย่างไรก็ตาม พระองค์ไม่ใช่ผู้มีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่เหมาะสมที่จะเป็นผู้นำในยามสงคราม
พระองค์ยกให้กิจการการทหารและการสงครามทั้งหมด อยู่ในการตัดสินใจของคณะเสนาธิการใหญ่ ซึ่งเป็นหน่วยบัญชาการสูงสุดของกองทัพบกจักรวรรดิเยอรมัน การมอบหมายอำนาจอย่างกว้างขวางนี้ส่งผลให้เกิดระบอบเผด็จการทหาร ซึ่งครอบงำนโยบายระดับชาติในช่วงที่เหลือของสงคราม แม้ว่าเยอรมนีได้รับชัยชนะเหนือรัสเซียและได้รับดินแดนพอสมควรในยุโรปตะวันออก แต่เยอรมนีก็ถูกบังคับให้สละดินแดนที่ได้มาทั้งหมดหลังความปราชัยย่อยยับในแนวรบด้านตะวันตกในฤดูใบไม้ร่วงปี 1918
พระองค์สูญเสียแรงสนับสนุนทั้งจากกองทัพและราษฎร นายกรัฐมนตรีมัคซีมีลีอาน ฟอน บาเดิน โน้มน้าวให้พระองค์สละราชสมบัติ แต่พระองค์บ่ายเบี่ยง จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 1918 ก็เกิดการปฏิวัติเยอรมัน ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีออกประกาศการสละราชสมบัติโดยไม่รอการลงพระนาม พระองค์จึงเสด็จลี้ภัยสู่ประเทศเนเธอร์แลนด์
ถึงแม้ฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการตัวพระองค์กลับมารับโทษในฐานะอาชญากรสงคราม แต่เนเธอร์แลนด์ก็ปฏิเสธที่จะส่งพระองค์กลับไปรับโทษ โดยในช่วงปลายพระชนม์ชีพ พระองค์ต้องประสบกับความทุกข์หลายอย่าง ไมว่าจะเป็นการสวรรคตของพระมเหสี รวมถึงการฆ่าตัวตายของพระราชโอรสองค์เล็กของพระองค์ จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 ทรงสวรรคตในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1941