June 12, 2025

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วีรบุรุษคู่ราชบัลลังก์

0

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท นับเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ผู้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อปกป้องบ้านเมืองในช่วงเวลาอันวิกฤติ ทรงมีพระนามเดิมว่า “นายสุดจินดา” และเริ่มรับราชการในรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ โดยดำรงตำแหน่งมหาดเล็กหุ้มแพรในราว พ.ศ. 2310 ช่วงนั้นเป็นปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาที่กำลังอ่อนแอ ก่อนเสียกรุงให้แก่ข้าศึกพม่า

เมื่อพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา นายสุดจินดาทรงหลบหนีลงเรือเล็กออกจากกรุง โดยมุ่งหน้าไปยังเมืองชลบุรี ซึ่งขณะนั้นพระยาวชิรปราการ (สิน) กำลังรวบรวมกำลังเพื่อสู้ศึก จากเหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมืออันแน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองพระองค์ โดยก่อนเสด็จไปถึงชลบุรี สมเด็จพระบวรราชเจ้าได้เสด็จไปพบพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่อัมพวา และได้รับคำแนะนำให้ไปถวายตัวกับพระยาตากสิน พร้อมของกำนัลคือดาบคร่ำและแหวนสองวง

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก พระยาตากสินตั้งตนเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2311 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้รับแต่งตั้งเป็นพระมหามนตรี เจ้ากรมพระตำรวจในขวา และต่อมาทรงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ และเจ้าพระยาสุรสีหพิษณวาธิราช โดยได้ร่วมรบในศึกต่าง ๆ ถึง 16 ครั้งในรัชกาลกรุงธนบุรี และอีก 8 ครั้งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

สงครามที่สำคัญ เช่น ศึกค่ายโพธิ์สามต้น (พ.ศ. 2310), ศึกบางกุ้ง (พ.ศ. 2311), การปราบชุมนุมต่าง ๆ ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงศึกเวียงจันทน์ที่สามารถอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับคืนมาได้ อีกทั้งยังร่วมศึกในสงครามเก้าทัพเมื่อ พ.ศ. 2328 ซึ่งถือเป็นศึกใหญ่ที่ทรงสามารถใช้กลยุทธ์จนมีชัยชนะเหนือกองทัพของพระเจ้าปดุงแห่งพม่า

นอกจากพระเกียรติคุณด้านการสงคราม สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทยังทรงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบ้านเมือง ทรงสร้างพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ซึ่งพื้นที่ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และโรงละครแห่งชาติ เป็นต้น ทรงสร้างป้อมปราการหลายแห่ง อาทิ ป้อมพระสุเมรุ ป้อมพระอาทิตย์ รวมถึงประตูยอดของพระบรมมหาราชวัง และโรงเรือพระราชวังฝั่งตะวันตก

ด้านศาสนาและวรรณกรรม ทรงมีพระอุปถัมภ์ในการสร้างวัดสำคัญหลายแห่ง เช่น วัดชนะสงคราม วัดมหาธาตุ วัดราชผาติการาม และวัดปทุมคงคา อีกทั้งยังโปรดให้สร้างหอมณเฑียรธรรม และวิหารคตในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แสดงถึงพระราชศรัทธาและพระปรีชาสามารถในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย

พระองค์ทรงมีบทบาทเสมอด้วย “พระมหากษัตริย์ผู้ครองราชบัลลังก์” โดยได้รับการสถาปนาเป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อกรุงรัตนโกสินทร์เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2325 การเรียกพระนามของพระองค์ในเอกสารต่าง ๆ ยังหลากหลาย จนกระทั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกำหนดพระนามให้เป็นทางการว่า “สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท”

พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2346 สิริพระชนมายุได้ 60 พรรษา ได้รับพระราชทานพระโกศไม้สิบสองหุ้มทองคำ และหลังจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงแล้ว พระบรมอัฐิของพระองค์ได้ประดิษฐานในพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ ก่อนจะอัญเชิญไปยังหอพระนาคในพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทจึงเป็นแบบอย่างของความจงรักภักดี กล้าหาญ และเสียสละเพื่อแผ่นดิน พระเกียรติคุณของพระองค์ยังคงได้รับการเทิดทูนจากพสกนิกรชาวไทยตราบจนทุกวันนี้

About The Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *