เจ้าชายซูลู ดิงกาเน สังหารได้แม้แต่พี่น้อง

ดิงกาเน กา เซนซังกาโคนา (Dingane ka Senzangakhona) เป็นเจ้าชายซูลูที่ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรซูลูในปี 1828 หลังจากที่เขาลอบสังหารชากา ซูลู (Shaka Zulu) พี่ชายร่วมสายเลือดของตัวเอง โดยมีความเชื่อกันว่าเหตุผลที่เขาสังหารชากา เป็นเพราะชากามีความโหดร้ายมากขึ้นหลังการเสียชีวิตของแม่เขา นานดี (Nandi)
หลังขึ้นครองราชย์ ดิงกาเนได้รับความเคารพนับถืออย่างสูงจากประชาชน จนถึงขั้นถูกมองว่าเป็นเหมือนเทพเจ้าเลยทีเดียว ชาวซูลูบางคนเชื่อว่าเขาเป็นอมตะ และครองอำนาจมาตลอดโดยไม่มีจุดเริ่มต้นใด ๆ เขาปกครองแบบเผด็จการเด็ดขาด ใครจะทำอะไรก็ต้องได้รับคำสั่งจากเขาก่อนเท่านั้น บรรดานางสนมของเขาก็อยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด จะออกจากเขตราชสำนักก็ต้องได้รับอนุญาตจากเขาก่อน ถ้าใครฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษอย่างรุนแรง
ในปี 1829 ดิงกาเนสร้างเมืองหลวงชื่ออูมกุงกุนด์โลวู (uMgungundlovu) ขึ้น โดยออกแบบให้เป็นศูนย์กลางของการทหารแบบซูลู ภายในมีลานสวนสนามตรงกลาง ล้อมรอบด้วยกระท่อมของนักรบ และที่พักของหญิงในวัง ดิงกาเนมีสนมจำนวนมาก แบ่งออกเป็นสองระดับคือพวกที่มีตำแหน่งสูงกับตำแหน่งรอง ซึ่งตำแหน่งก็สะท้อนให้เห็นจากที่พักของพวกเธอด้วย

แม้ว่าจะมีอำนาจมาก แต่ดิงกาเนก็ต้องต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจของตัวเองเอาไว้ เขาต้องรับมือกับการกบฏจากหัวหน้าเผ่าต่าง ๆ และความขัดแย้งกับพวกวูร์เทร็กเกอร์ ซึ่งเป็นชาวดัตช์อพยพที่เริ่มเคลื่อนเข้ามาในพื้นที่ ปี 1837 ดิงกาเนได้พบกับพีท รีทีฟ (Piet Retief) ผู้นำของวูร์เทร็กเกอร์ และได้ลงนามในเอกสารโอนที่ดินฉบับหนึ่งซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ไม่นานหลังจากนั้น เขาก็สั่งให้สังหารรีทีฟกับพรรคพวก นำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่ที่รู้จักกันในชื่อ “เหตุการณ์วีเนน” (Weenen massacre)
กองทัพของดิงกาเนพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ใน “ยุทธการที่แม่น้ำเลือด” (Battle of Blood River) โดยถูกฝ่ายโบเออร์นำโดยแอนดรีส์ เพรโทเรียส (Andries Pretorius) โจมตี ทำให้ซูลูเสียชีวิตจำนวนมาก สุดท้ายในปี 1840 ดิงกาเนถูกล้มอำนาจโดยเอ็มพันเด (Mpande) น้องชายร่วมสายเลือด โดยได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายโบเออร์ พอถูกทหารทิ้งและขาดการสนับสนุน ดิงกาเนจึงต้องหนีไปหลบในภูเขาลูบอมโบ (Lubombo Mountains) และก็ถูกลอบสังหารในที่สุด