June 12, 2025

โฮโลโดมอร์ สตาลิน ล้างเผ่าพันธ์ุยูเครน

0

ในช่วงที่เกิดทุพภิกขภัยในยูเครนระหว่างปี 1932-33 ภายใต้การปกครองของโจเซฟ สตาลิน ผู้คนที่อดอยากพากันเดินเร่ร่อนไปทั่วชนบท ดิ้นรนหาอะไรก็ได้ที่จะกิน ในหมู่บ้านสตาวีชเช เด็กชายชาวนาเห็นกับตาว่าคนเหล่านั้นใช้มือเปล่าขุดดินในสวนที่ว่างเปล่า หลายคนผอมแห้งจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก บางคนตัวบวมและส่งกลิ่นเหม็นเพราะขาดสารอาหารอย่างรุนแรง

“พวกเขาเดินไปเรื่อย ๆ เดินแล้วก็เดิน แล้วจู่ ๆ ก็มีคนล้มลงไปคนหนึ่ง จากนั้นก็อีกคน แล้วก็อีกคน” เขาเล่าให้ฟังหลายปีให้หลัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกที่รวบรวมโดยคณะกรรมาธิการรัฐสภาในช่วงปลายยุค 1980 บริเวณสุสานข้างโรงพยาบาลของหมู่บ้าน หมอที่รับมือกับจำนวนศพที่เพิ่มขึ้นไม่ไหว ต้องหามร่างของพวกเขาขึ้นเปลแล้วโยนลงไปในหลุมขนาดใหญ่

ทุพภิกขภัยครั้งนั้น ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “โฮโลโดมอร์” (Holodomor) — คำในภาษายูเครนที่หมายถึง “ความอดอยาก” และ “การสังหาร” — มีการประเมินกันว่าคร่าชีวิตผู้คนไปถึง 3.9 ล้านคน หรือราว 13% ของประชากรทั้งหมด และต่างจากทุพภิกขภัยอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ที่เกิดจากภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้งหรือโรคพืช ระลอกนี้เกิดจากฝีมือของเผด็จการที่ต้องการยึดเอาเกษตรกรรมรายย่อยของยูเครนมาทำเป็นฟาร์มรวมของรัฐ และปราบปรามชาวยูเครนที่มีแนวคิดเป็นอิสระ ซึ่งอาจเป็นภัยต่ออำนาจเบ็ดเสร็จของเขา

“ความอดอยากในยูเครนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของภาวะขาดแคลนอาหารที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์” อเล็กซ์ เดอ วาล ผู้อำนวยการมูลนิธิสันติภาพโลกแห่งมหาวิทยาลัยทัฟส์ และผู้เขียนหนังสือ Mass Starvation: The History and Future of Famine (2018) อธิบาย เขาเรียกมันว่า “หายนะที่ผสมผสานกันระหว่างนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมที่ล้มเหลว กับการใช้ความอดอยากเป็นเครื่องมือกดขี่หรือทำโทษกลุ่มประชากรเป้าหมาย”

ในเวลานั้น ยูเครน—ประเทศขนาดพอ ๆ กับรัฐเท็กซัส ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลดำทางตะวันตกของรัสเซีย—ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตที่อยู่ภายใต้การปกครองของสตาลิน ตั้งแต่ปี 1929 เป็นต้นมา ตามแผนสร้างระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์อย่างรวดเร็วของเขา สตาลินได้สั่งให้รวมที่ดินทำกินทั้งหมดเป็นฟาร์มรวมของรัฐ ชาวนาเล็ก ๆ ในยูเครนซึ่งทำการเกษตรเพื่อยังชีพส่วนใหญ่ไม่ยอมยกที่ดินและอาชีพของตนให้รัฐบาลง่าย ๆ

พอชาวนาไม่ยอมทำตาม รัฐบาลโซเวียตก็เริ่มใส่ร้ายพวกเขา เรียกว่าพวก “คูลัค”—ซึ่งในอุดมการณ์โซเวียตหมายถึงชาวนาที่มีฐานะดีและถูกมองว่าเป็นศัตรูของรัฐ เจ้าหน้าที่โซเวียตขับไล่พวกชาวนาออกจากที่ดินด้วยกำลัง และตำรวจลับของสตาลินก็วางแผนจะเนรเทศครอบครัวชาวนาในยูเครนถึง 50,000 ครอบครัวไปไซบีเรีย ตามที่นักประวัติศาสตร์ แอน แอปเปิลบอม เขียนไว้ในหนังสือ Red Famine: Stalin’s War on Ukraine (2017)

“ดูเหมือนว่าสตาลินมีเป้าหมายจะเปลี่ยนชาติยูเครนให้กลายเป็นชาติสังคมนิยมชนชั้นกรรมาชีพตามแบบของเขาเอง แม้ว่านั่นจะหมายถึงการทำลายล้างประชากรไปเป็นจำนวนมากก็ตาม” เทรเวอร์ เออร์ลาเคอร์ นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านยูเครนยุคใหม่และที่ปรึกษาทางวิชาการที่ศูนย์ศึกษารัสเซีย ยุโรปตะวันออก และยูเรเชียแห่งมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก กล่าว

แต่การรวมฟาร์มในยูเครนกลับล้มเหลวไม่เป็นท่า พอถึงฤดูใบไม้ร่วงปี 1932—ช่วงเดียวกับที่ นาเดซดา เซอร์เกเยฟนา อัลลิลูเยวา ภรรยาของสตาลิน ซึ่งว่ากันว่าเธอคัดค้านนโยบายนี้ ตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง—ก็เห็นได้ชัดว่าผลผลิตข้าวในยูเครนจะต่ำกว่าที่โซเวียตคาดการณ์ไว้ถึง 60% อันที่จริงยังพอมีอาหารให้ชาวนาเอาตัวรอดได้บ้าง แต่แอปเปิลบอมเล่าว่า สตาลินกลับสั่งริบอาหารที่เหลืออยู่นั้นไปหมด เพื่อเป็นการลงโทษที่ยูเครนผลิตได้ไม่ถึงเป้า

“ทุพภิกขภัยปี 1932-33 เกิดจากการตัดสินใจของรัฐบาลสตาลินในภายหลัง เมื่อพวกเขารู้แล้วว่าแผนในปี 1929 ไม่เป็นไปตามที่หวัง จนเกิดวิกฤตอาหารและความอดอยาก” สตีเฟน นอร์ริส ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์รัสเซียแห่งมหาวิทยาลัยไมอามีในรัฐโอไฮโอ อธิบาย

นอร์ริสกล่าวว่า เอกสารของโซเวียตที่ออกมาในเดือนธันวาคม 1932 ชื่อ “ว่าด้วยการจัดเก็บธัญพืชในยูเครน คอเคซัสเหนือ และแคว้นตะวันตก” มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์บีบเอาข้าวจากพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวได้ต่ำกว่าเป้ามาเพิ่ม และยังสั่งให้จับกุมหัวหน้าฟาร์มรวมที่ขัดขืน รวมถึงสมาชิกพรรคที่ไม่สามารถทำให้ได้ตามโควตา

ขณะเดียวกัน สตาลินก็เดินหน้ากวาดล้างชาวยูเครนหนักขึ้น ตามที่แอปเปิลบอมเล่าไว้ เขาสั่งจับกุมครูและปัญญาชนชาวยูเครนไปแล้วหลายหมื่นคน และให้เอาหนังสือภาษายูเครนออกจากโรงเรียนและห้องสมุด เธออธิบายว่า ผู้นำโซเวียตใช้เรื่องผลผลิตข้าวตกต่ำเป็นข้ออ้างในการกดขี่ชาวยูเครนให้หนักกว่าเดิม นอร์ริสเสริมว่า คำสั่งที่ออกมาในปี 1932 มีเป้าหมายเล่นงานพวกที่ถูกมองว่าเป็น “พวกบ่อนทำลาย” ในยูเครน รวมถึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเลิกใช้ภาษายูเครนในเอกสารราชการ และปราบปรามนโยบายทางวัฒนธรรมของยูเครนที่เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ยุค 1920

พอเจ้าหน้าที่ที่รับหน้าที่เก็บเกี่ยวพืชผลของสตาลินออกตระเวนไปตามหมู่บ้าน รายงานของคณะกรรมาธิการรัฐสภาสหรัฐฯ ในปี 1988 ระบุว่า พวกเขาถือไม้ยาวที่ปลายมีโลหะแหลม ๆ ไปจิ้มตามพื้นดินในบ้านชาวนา และขุดไปรอบ ๆ เผื่อจะเจอข้าวที่ถูกฝังซ่อนไว้

ใครที่โดนกล่าวหาว่ากักตุนอาหาร มักจะถูกส่งตัวเข้าคุก แต่บางทีเจ้าหน้าที่ก็ไม่รอให้ถึงขั้นนั้น อย่างเด็กชายสองคนที่ถูกจับได้ว่าซ่อนปลาและกบที่พวกเขาหามาได้ พวกเขาถูกลากไปยังที่ทำการหมู่บ้าน ถูกซ้อม แล้วถูกมัดมือ ปิดปาก ปิดจมูก และถูกทิ้งไว้กลางทุ่งจนขาดอากาศหายใจ

เมื่อความอดอยากเลวร้ายลง ชาวบ้านจำนวนมากพยายามหนีไปหาที่ที่พอมีอาหารให้กิน บางคนตายอยู่ข้างทาง บางคนถูกตำรวจลับขัดขวางเพราะติดระบบพาสปอร์ตภายในของรัฐบาล ชาวนาหลายคนหันไปใช้วิธีสุดโต่งเพื่อเอาตัวรอด ตามรายงานของคณะกรรมาธิการรัฐสภาสหรัฐฯ พวกเขาต้องฆ่าสัตว์เลี้ยงมากิน และกินดอกไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ อะไรก็ได้ที่พอเคี้ยวลงไปได้ มีหญิงคนหนึ่งเจอถั่วแห้งเข้าไป ด้วยความหิวจัด เธอกินมันดิบ ๆ ทันที และสุดท้ายก็ตายเพราะถั่วพองตัวในกระเพาะ

“นโยบายของสตาลินและพวกที่นำมาใช้หลังจากเกิดทุพภิกขภัย ถือเป็นหลักฐานที่สำคัญที่สุดว่าความอดอยากครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่ถูกทำให้เกิดขึ้น” เออร์ลาเคอร์กล่าว “ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐ ผู้ลี้ภัยจากหมู่บ้านพากันหลั่งไหลเข้าสู่เมืองและพยายามหนีออกนอกพรมแดนของสาธารณรัฐโซเวียตยูเครน” แต่แทนที่รัฐบาลจะช่วย พวกเขากลับยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลง

พอถึงช่วงฤดูร้อนปี 1933 ฟาร์มรวมบางแห่งเหลือครัวเรือนอยู่แค่หนึ่งในสาม ส่วนคุกและค่ายแรงงานก็แน่นไปด้วยผู้คน แทบไม่เหลือใครไว้ทำเกษตรอีกแล้ว สุดท้าย รัฐบาลสตาลินต้องแก้ปัญหาด้วยการย้ายชาวนารัสเซียจากพื้นที่อื่นของโซเวียตมาอยู่ในยูเครนเพื่อชดเชยแรงงานที่ขาดหายไป และเมื่อเผชิญกับความเสี่ยงที่ภาวะขาดแคลนอาหารจะยิ่งเลวร้ายลง รัฐบาลของเขาก็เริ่มผ่อนคลายมาตรการยึดข้าวในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 1933

รัฐบาลรัสเซียที่มาแทนสหภาพโซเวียตยอมรับว่ามีทุพภิกขภัยเกิดขึ้นในยูเครน แต่ปฏิเสธว่าไม่ใช่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ตามนิยามของสหประชาชาติใน อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปี 1948 การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หมายถึง “การกระทำใด ๆ ที่เกิดขึ้นโดยมีเจตนาจะทำลายกลุ่มชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือศาสนา ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน” แต่ในเดือนเมษายน 2008 สภาผู้แทนราษฎรรัสเซียออกแถลงการณ์ว่า “ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่พิสูจน์ว่าทุพภิกขภัยนี้ถูกวางแผนขึ้นโดยมีเป้าหมายทางชาติพันธุ์” ถึงอย่างนั้น อย่างน้อย 16 ประเทศรับรองว่าโฮโลโดมอร์เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และล่าสุด วุฒิสภาสหรัฐฯ ก็มีมติในปี 2018 ยืนยันผลสรุปของคณะกรรมาธิการรัฐสภาปี 1988 ว่าสตาลินได้ก่ออาชญากรรมนี้จริง

แม้ว่านโยบายของสตาลินจะทำให้มีผู้คนล้มตายไปเป็นล้าน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถบดขยี้ความต้องการเอกราชของชาวยูเครนได้ และในระยะยาว มันอาจจะย้อนกลับมาเล่นงานฝ่ายโซเวียตเสียเอง “ความอดอยากมักถูกใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจหรือทางทหาร เช่น การยึดที่ดิน หรือทำให้ประชากรในพื้นที่ต้องอพยพออกไป เพราะส่วนใหญ่มักจะเลือกหนีมากกว่าตาย” อเล็กซ์ เดอ วาล นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านทุพภิกขภัย อธิบาย “แต่ในเชิงการเมืองและอุดมการณ์แล้ว มันมักส่งผลตรงกันข้ามกับผู้ที่ก่อมันขึ้นมา อย่างกรณียูเครน ความโหดร้ายนี้สร้างความเกลียดชังและความขุ่นเคืองจนทำให้ชาตินิยมยูเครนแข็งแกร่งขึ้น”

ในที่สุด เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 ยูเครนก็กลายเป็นประเทศเอกราชได้สำเร็จ และโฮโลโดมอร์ก็ยังคงเป็นบาดแผลในความทรงจำร่วมของชาวยูเครนมาจนถึงทุกวันนี้

About The Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *