September 7, 2024

โจรโพกผ้าเหลือง กบฏชาวนา

0

ปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ขันทีก่อความวุ่นวายและพระญาติทางสายมารดาและมเหสีต่างรวบอำนาจไว้ในมือ ขณะที่ประเทศต้องประสบภัยธรรมชาติต่อเนื่อง ตั้งแต่อุทกภัย ภัยแล้ง ภัยจากแมลง ที่เกิดขึ้นติดต่อกันหลายปี ทำให้ชาวนาต้องเผชิญความยากจนข้นแค้น และการกดขี่ของขุนนางทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงทั้งหลาย

ความอดอยากของชาวนา บวกกับปราศจากที่ทํากิน ต้องอพยพหนีความอดอยากออกร่อนเร่ ในที่สุดการลุกฮือของชาวนาก็มาถึงขั้นสูงสุด เกิดการรวมตัวผู้คนหลายแสนในรัชสมัยพระเจ้าเลนเต้ ค.ศ. 184 ที่เรียกกันว่า “โจรโพกผ้าเหลือง” 

โจรโพกผ้าเหลือง เป็นกบฏชาวนามี เตียวก๊ก เป็นประมุขผู้เผยแพร่ลัทธิไท่ผิงเต้า ยกย่องบูชา หวงตี้ จักรพรรดิเหลือง ปฐมกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ชาวจีนยกย่อง เขาสามารถรวบรวมผู้คนจนขึ้นเป็นเจ้าลัทธิได้ และน้องชายสองคนอย่างเตียวโป้ และเตียวเหลียง เป็นผู้นำระดับสูง นอกจากนี้ยังมีการใช้เวทย์มนตร์คาถา ไสยศาสตร์เครื่องรางของขลังต่างๆ 

ด้วยความเดือดร้อนอดอยากของชาวนา การเกิดโรคระบาด เตียวก๊กใช้ความรู้รักษาโรคภัยให้ชาวบ้านโดยไม่คิดเงินทอง พร้อมกับเผยแพร่ลัทธิของตนไปด้วย จึงได้ลูกศิษย์และสาวกเป็นจำนวนมาก มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธามากขึ้นทุกที 

เตียวก๊ก กำหนดวันก่อการโค่นอำนาจราชวงศ์ฮั่น วันที่ 5 ของเดือน 3 ใน ค.ศ.184 แต่แผนการโค่นอำนาจเกิดรั่วไหลก่อนลงมือ แต่ว่า เตียวก๊ก ก็ไม่ได้ยกเลิกแผนการ สาวกของเตียวก๊กที่โพกผ้าเหลืองได้ลุกฮือขึ้นด้วยกำลังอาวุธ เข้ายึดเมืองต่างๆ ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำฮวงโห และแม่น้ำฉางเจียง 

ขณะที่ราชสำนักแต่งตั้งให้ โฮจิ๋น พี่ชายของ เหอหวงโฮ่วมเหสีในพระเจ้าเลนเต้ เป็นแม่ทัพใหญ่ ในระยะเวลาเพียง 9 เดือน กำลังทหารฝ่ายรัฐบาลก็ปราบกบฏโพกผ้าเหลืองลงได้ ผู้นำกบฏทั้งสามคนคือ เตียวก๊ก เตียวโป้และเตียวเหลียง  3 พี่น้องต้องเสียชีวิตไปในเวลาอันสั้น 

ทว่า “โจรโพกผ้าเหลือง” ไม่สิ้นซากไปง่ายๆ ยังคงมีการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธยืดเยื้อเรื้อรังอีกต่อไปจนถึง ค.ศ. 192 กบฏชาวนา ในซานตงก็ได้ลุกฮือขึ้น กบฏชาวนา ที่ระบาดไปในบริเวณภาคเหนือและตะวันออก แม้จะพ่ายแพ้ไปในชั่วเวลาอันสั้น แต่กว่าจะสามารถทำให้ชาวนากลับคืนไปสู่ที่ดินทำกินของตนได้โดยสมบูรณ์ ก็ต้องใช้เวลาถึง 20 ปี

About The Author

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *