คืนกวาดล้างหน่วย SA

“คืนแห่งมีดยาว” หรือที่รู้จักในชื่อ “การกวาดล้างด้วยเลือด” (Blood Purge) หรือ “รัฐประหารของแอร์นส์ เริิม” (Röhm-Putsch) เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม ปี 1934 เป็นการสังหารที่ฮิตเลอร์สั่งโดยตรง เพื่อจัดการกับผู้นำของกลุ่ม SA ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธของนาซี โดยเฉพาะเป้าหมายหลักคือหัวหน้ากลุ่ม Ernst Röhm ฮิตเลอร์เริ่มกังวลว่ากลุ่ม SA จะมีอิทธิพลมากเกินไป ทั้งพฤติกรรมรุนแรง และความเป็นศัตรูกับกองทัพเยอรมัน ซึ่งฮิตเลอร์ต้องการการสนับสนุนจากกองทัพ เขาจึงอ้างว่าเหตุการณ์นี้เป็นการป้องกันประเทศจากภัยคุกคาม และแสดงให้เห็นว่าผู้นำนาซีเห็นตัวเองอยู่เหนือกฎหมาย
กลุ่ม SA ก่อตั้งในปี 1921 มีบทบาทหลากหลาย เช่น คุ้มกันการชุมนุมของนาซี และข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม สมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย Röhm เป็นผู้นำในการขยายกลุ่ม เขากลับมาร่วมพรรคอีกครั้งในปี 1931 หลังจากแยกตัวไปช่วงหนึ่ง และได้จัดระเบียบกลุ่มใหม่ จนถึงปี 1933 SA มีสมาชิกมากถึง 2.3 ล้านคน กลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญต่อการขึ้นสู่อำนาจของนาซี แต่พฤติกรรมของพวกเขาก็สร้างความกังวลให้ทั้งกองทัพและนักการเมือง
ขณะที่ฮิตเลอร์ต้องการยึดอำนาจแน่นแฟ้นและได้ความภักดีจากกองทัพ เขาจึงถูกกดดันให้ลดอิทธิพลของ SA มีการแพร่ข่าวลือว่า Röhm วางแผนก่อรัฐประหาร ทำให้เกิดการตัดสินใจสังหารเขาและผู้นำ SA คนอื่นๆ การกวาดล้างครั้งนี้ดำเนินการโดยหน่วย SS และตำรวจลับเกสตาโป มีการจับกุมและประหารหลายรายทั่วเยอรมนี โดยเฉพาะการสังหาร Röhm ที่ถูกโฆษณาว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย
เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 478 คน ไม่ใช่แค่สมาชิก SA เท่านั้น แต่รวมถึงคู่แข่งทางการเมือง และผู้ที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามด้วย ถึงแม้จะมีการนองเลือด แต่ฝ่ายนาซีก็โฆษณาว่าเป็นการ “ชำระล้างศีลธรรม” โดยเฉพาะโจมตีผู้นำ SA ว่ามีพฤติกรรมผิดศีลธรรม ประชาชนส่วนใหญ่กลับสนับสนุน เพราะมองว่าเป็นการจัดการกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง

ในวันที่ 3 กรกฎาคม ฮิตเลอร์ออกกฤษฎีการันตีว่าการกวาดล้างครั้งนี้เป็นการป้องกันตัวอย่างถูกกฎหมาย สื่อของนาซีก็โหมโฆษณาว่าผู้ที่ถูกสังหารเป็นพวกเลวร้าย และความรุนแรงนั้น “มีเหตุผล” ผลที่ตามมาคือฮิตเลอร์มีอำนาจแน่นหนา กองทัพเปลี่ยนจากสาบานต่อรัฐธรรมนูญไปเป็นสาบานความจงรักภักดีต่อฮิตเลอร์โดยตรง กลุ่ม SA ก็อ่อนแอลงอย่างชัดเจน บทบาทส่วนใหญ่ก็ถูกส่งต่อให้ SS แทน
“คืนแห่งมีดยาว” ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้นาซีเยอรมนีกลายเป็นระบอบเผด็จการเต็มตัว และเป็นสัญญาณเตือนถึงความรุนแรงที่รออยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะเหตุการณ์ Kristallnacht ในปี 1938 ที่โจมตีชาวยิวอย่างเป็นระบบ นี่จึงไม่ใช่แค่การจัดการภัยในประเทศ แต่เป็นการปูทางสู่การกดขี่ที่โหดร้ายซึ่งดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945